วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การศึกษากับสื่อมัลติมีเดีย

ปัจจุบันคนไทยเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งกำลังมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอิทธิพลต่อการศึกษาของไทย ซึ่งไทยควรจะมีการจัดทำสื่อเพื่อเตรียมบุคลากรทางการศึกษา คือ ครูและผู้บริหารการศึกษาให้ก้าวไปพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตระหนักถึงการเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีมัลติมีเดียกับการศึกษา และบทบาทของครูกับนักเรียนเพื่อที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อกล่าวถึงมัลติมีเดีย จะเป็นสิ่งที่กว้างมาก เนื่องจากว่ามัลติมีเดียเกิดจากการนำภาพ เสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว วิดีโอมาผสมผสานเข้าด้วยกัน แต่เนื่องจากว่าปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์กำลังเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของคนเราเป็นอย่างมาก ดังนั้นถ้าหากได้ยินใครกล่าวถึงมัลติมีเดียคนทั่วไปมักจะนึกถึงคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นความเข้าใจที่ผิด แต่ก็ได้มีนักการศึกษาหลาย ๆ ท่านได้ให้ความหมายของมัลติมีเดียไว้ดังนี้
มัลติมีเดีย หมายถึง การนำองค์ประกอบของสื่อชนิดต่าง ๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย ตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง วิดีโอ โดยผ่านกระบวนการทางระบบคอมพิวเตอร์ (ทวีศักดิ์ กาญจนสุวรรณ. 2546)
มัลติมีเดีย คือ ระบบสื่อสารข้อมูลข่าวสารหลายชนิด โดยผ่านสื่อทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วย ข้อความ ฐานข้อมูล ตัวเลข กราฟิก ภาพเสียงและวิดีทัศน์ (Jeffcoate. 1995)
มัลติมีเดีย คือ การใช้คอมพิวเตอร์สื่อความหมายโดยการผสมผสานสื่อหลายชนิด เช่น ข้อความ กราฟ ภาพศิลป์ (Graphic Art) เสียง ภาพเคลื่อนไหว (Animation) และวิดีทัศน์ เป็นต้น ถ้าผู้ใช้สามารถควบคุมสื่อเหล่านี้ให้แสดงออกมาตามต้องการได้ระบบนี้จะเรียกว่า มัลติมีเดียปฏิสัมพันธ์(InteractiveMultimedia) (Vaughan. 1993)
มัลติมีเดีย คือโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่อาศัยคอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการนำเสนอโปรแกรมประยุกต์ซึ่งรวมถึงการนำเสนอข้อความสีสัน ภาพกราฟิก (Graphic images) ภาพเคลื่อนไหว (Animation) เสียง (Sound) และภาพยนตร์วิดีทัศน์ (Full motion Video) (Hall. 1996)
เนื่องจากว่าคอมพิวเตอร์กำลังได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วไปเพราะมีราคาถูก หาซื้อได้ง่ายให้ทั้งภาพกราฟิกและภาพเคลื่อนไหว และในสถานศึกษาต่าง ๆ ก็จะจัดให้ผู้เรียนได้เรียนคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นทุกวันนี้คอมพิวเตอร์จึงได้เข้ามามีบทบาทกับการศึกษาเป็นอย่างมาก และเนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันได้เจริญก้าวหน้าไปมาก มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายคอมพิวเตอร์ในส่วนของมัลติมีเดียทางการศึกษาก็เช่นเดียวกัน ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาได้มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่รู้จักกันดี เช่น e – learning โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ CAI ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าทั้ง e – learning และ CAI ต่างก็เป็นมัลติมีเดียคอมพิวเตอร์ที่เกิดจากการนำเอาภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ มาผสมผสานกันเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้อีกแหล่งหนึ่งของผู้เรียน ทำให้เนื้อหาของบทเรียนมีความน่าสนใจ น่าศึกษามากขึ้น คอมพิวเตอร์จึงได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลมัลติมีเดียทางการศึกษาขนาดใหญ่ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ระหว่างกันเองได้
นอกจากระบบการศึกษาจะต้องเตรียมตัวรับกับความก้าวหน้าของมัลติมีเดียคอมพิวเตอร์ แล้วครูในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียก็จะต้องเตรียมความพร้อมให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีทั้งในเรื่องของวิธีการใช้ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ เพื่อให้สามารถควบคุมและประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างสื่อต่างๆได้ ครูจะต้องเป็นผู้ที่พัฒนาตนเองอยู่เสมอในการที่จะขวนขวายหาความรู้และทำความเข้าใจการใช้คอมพิวเตอร์มัลติมีเดียในการจัดการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย เร้าความสนใจเด็ก ดังนั้นมัลติมีเดียคอมพิวเตอร์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยในการลดภาระงานสอนและประหยัดเวลาของ ผู้สอน และนอกจากนั้นยังช่วยให้ผู้เรียนได้เลือกเข้าไปศึกษาได้ตามความสนใจ ทุกที่ ทุกเวลาโดยไม่จำกัด สามารถฝึกได้ตลอดจนเกิดความชำนาญ และช่วยให้ระบบการจัดการศึกษามีความน่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย
ดังนั้นมัลติมีเดีย และเทคโนโลยีมัลติมีเดีย มีความสำคัญกับการเรียนการสอนในปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเรียนในระบบออนไล์ หรือเรียนผ่านระบบเครือข่าย (e-Learning) เพราะการนำเทคโนโลยีทางด้านนี้มาใช้ เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างมาก ผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับระบบได้ และระบบสามารถเก็บข้อมูลสถิติการเรียน การทดสอบ และพัฒนาการของผู้เรียนไว้เป็นข้อมูลได้เช่นกัน นอกจากการเรียนดังกล่าว เทคโนโลยีมัลติมีเดียยังมีความสำคัญกับการให้บริการสารสนเทศในองค์กรต่าง ๆ ซึ่งเกิดผลดีต่อผู้ใช้ และเป็นการสร้างคุณค่าให้กับสารสนเทศนั้น ๆ ให้มีความสำคัญต่อผู้ใช้ เนื่องด้วยการเข้าถึงสารสนเทศนั้น ๆ ทั้งนี้นอกจากประโยชย์ต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วมัลติมีเดียยังมีข้อดีอีกมากมายดังนี้
1.เทคโนโลยีด้านสื่อมัลติมีเดียช่วยให้การออกแบบบทเรียน ตอบสนองต่อแนวคิด และทฤษฎีการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งผลโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของสื่อมัลติมีเดียว่า สามารถช่วยเสริมการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นได้
2. สื่อมัลติมีเดียในรูปแบบของซีดีรอม ใช้ง่าย เก็บรักษาง่าย พกพาได้สะดวก และสามารถทำสำเนาได้ง่าย
3. สื่อมัลติมีเดียเป็นสื่อการสอน ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองตามศักยภาพ ความต้องการ และความสะดวกของตนเอง สามารถสร้างสถานการณ์จำลอง จำลองประสบการณ์ ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
4. ในปัจจุบันมีโปรแกรมช่วยสร้างบทเรียน (Authoring Tools) ที่ง่ายต่อการใช้งานทำให้บุคคลที่สนใจทั่วไปสามารถสร้างบทเรียนสื่อมัลติมีเดียใช้เองได้
5. ผู้สอนสามารถใช้สื่อมัลติมีเดียเพื่อสอนเนื้อหาใหม่ เพื่อการฝึกฝน เพื่อเสนอสถานการณ์จำลอง และเพื่อสอนการคิดแก้ปัญหา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้เป็นประการสำคัญ รูปแบบต่างๆ ดังกล่าวนี้จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ และรูปแบบการคิดหาคำตอบ
6. สื่อมัลติมีเดียช่วยสนับสนุนให้มีสถานที่เรียนไม่จำกัดอยู่เพียงห้องเรียน เท่านั้น ผู้เรียนอาจเรียนรู้ที่บ้าน ที่ห้องสมุด หรือภายใต้สภาพแวดล้อมอื่นๆ ตามเวลาที่ ตนเองต้องการ
7. เทคโนโลยีสื่อมัลติมีเดีย สนับสนุนให้เราสามารถใช้สื่อมัลติมีเดียกับผู้เรียนได้ ทุกระดับอายุ และความรู้ หลักสำคัญอยู่ที่การออกแบบ ให้เหมาะสมกับผู้เรียนเท่านั้น
8. สื่อมัลติมีเดียที่มีคุณภาพ นอกจากจะช่วยให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนของโรงเรียน หรือหน่วยงานแล้ว ความก้าวหน้าของระบบครือข่าย ยังช่วยส่งเสริมให้การใช้สื่อมัลติมีเดียเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษาอื่นๆ อีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น: